“เลขาฯ ก.ล.ต. เผยแผนปรับ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ควบคู่การพัฒนาตลาดคริปโตเคอร์เรนซี หนุนระดมทุนด้วยการออก ICO อีกทั้งปรับโอน Investment Token และ Utility Token ให้มาอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์เพื่อได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับการระดมทุนด้วยการเสนอขายหุ้น พร้อมคุมผู้ประกอบการ หากระบบล่มต้องเปิดเผยต่อสาธารณะเหมือนแบงก์พาณิชย์ หวังให้นักลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจ แนะนักลงทุนต้องติดตามปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากระทบอย่างใกล้ชิด เพราะสินทรัพย์ดิจิทัลผันผวนสูง
หลังจากที่กระแสตลาดคริปโตเคอร์เรนซีได้รับความสนใจจากนักลงทุนจำนวนมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงปลายปี 2564 ที่สินทรัพย์ดิจิทัล หรือเงินดิจิทัลได้ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งได้สร้างผลตอบแทนให้แก่นักลงทุนอย่างเป็นกอบเป็นกำ และทำให้มีนักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาในตลาดคริปโตเคอร์เรนซีอย่างต่อเนื่อง
“ผู้จัดการรายวัน360” ได้สัมภาษณ์ “น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)” ถึงมุมมองต่อตลาดคริปโตฯ ในประเทศไทย และมาตรการต่างๆ ที่สำนักงาน ก.ล.ต. เตรียมปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป และเป็นการปกป้องนักลงทุนที่กำลังจะเข้ามาลงทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล
ตลาดคริปโตฯ ปีนี้หลายฝ่ายมองขาลง ก.ล.ต. มอง?
บทบาทและหน้าที่ของสำนักงาน ก.ล.ต. จะทำหน้าที่กำกับดูแลไม่เข้าไปวิเคราะห์ในทั้งหุ้น กองทุน หรือแม้กระทั่งคริปโตฯ แต่การที่ สำนักงาน ก.ล.ต. ไม่เข้าไปวิเคราะห์ไม่ได้ไปส่งสัญญาณว่ามันจะเป็นตลาดทิศทางใด แต่สำนักงาน ก.ล.ต.ต้องติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด เพราะคิดว่าหน้าที่ในการวิเคราะห์แนวโน้มตลาดต้องปล่อยให้ผู้ที่เป็นมืออาชีพเป็นผู้ทำหน้าที่
โดยในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ จะมีนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตอยู่แล้ว และในส่วนของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ในตอนนี้มีใบอนุญาตแล้ว คือ Digital Asset Investment Advisor (DAIA) เป็นผู้ทำหน้าที่
แต่ถ้าเป็นภาพรวมตลาดคริปโตฯ ในประเทศไทยที่เข้ามาลิสต์ถือว่ายังมีสัดส่วนน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อขายทั่วโลก ซึ่งปัจจัยแวดล้อมที่เข้ามามีผลกระทบต่อราคาจะอิงจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ยกตัวอย่าง ก่อนเกิดเหตุการณ์รัสเซียโจมตียูเครน บิตคอยน์จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 34,000-35,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากปีที่แล้วสูงสุดกว่า 60,000 ดอลลาร์ แต่พอยูเครนประกาศรับบริจาคคริปโตฯ ราคามันพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 38,000-39,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่หลังจากที่นายโจ ไบเดน ปธน.สหรัฐฯ ได้ลงนามในคำสั่งพิเศษ (Executive Order) ให้หน่วยงานและกระทรวงต่างๆ ของสหรัฐฯ ศึกษาความเป็นไปได้ รวมไปถึงข้อดีและข้อเสียจากการใช้งานคริปโตฯ ทำให้ราคาพุ่งแตะระดับ 41,000 ดอลลาร์ ดังนั้น นักลงทุนเองจะต้องติดตามปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากระทบอย่างใกล้ชิดสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโตฯ จัดเป็นสินทรัพย์เสี่ยง
ขณะเดียวกัน ถ้าจะมองราคาคริปโตฯ ตอนนี้ มองว่าจัดเป็นสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งก่อนหน้านี้เหมือนจะบอกว่าเป็นเหมือน GOLD Digital ช่วยป้องกันเงินเฟ้อ ทว่า ตอนนี้บทบาทของบิตคอยน์ยังไม่ใช่ ซึ่งพอเป็นสินทรัพย์เสี่ยง เทรนด์การเคลื่อนไหวราคาคริปโตฯ ที่ติดตาม จะตามพวกหุ้นหรือสินทรัพย์เสี่ยงทั่วไป ขณะเทรนด์ที่มองไปข้างหน้าสินทรัพย์เสี่ยงจะเริ่มแย่ลงด้วย ซึ่งถ้าสินทรัพย์เสี่ยงมีมูลค่าดีขึ้นสินทรัพย์อื่นๆ ก็ขึ้นด้วย ซึ่งภาพจะเป็นอย่างนั้นเพราะค่อนข้างผันผวนเป็นไปด้วยภาวะสงคราม
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ช่วงปี 2019 ที่ บิตคอยน์มีทิศทางที่จะสูงขึ้นระยะเวลาเดียวกันกับการที่ผลตอบแทนกับคนอื่นจะสูงกว่า แต่อัตราความผันผวนจะสูงกว่าคนอื่นด้วยเหมือนกัน ดังนั้น ผู้ซื้อขายต้องเข้าใจลักษณะจริงๆ และยอมรับความผันผวนนี้ได้ แล้วต้องพิจารณาถึงตัวผู้ลงทุนเองที่จะสามารถยอมรับความเสี่ยงความต้านทานในเรื่องของความเสี่ยงของตัวตนได้
มาตรการออกมาเพื่อคุมรัดกุมและต้องปรับปรุงหรือไม่?
จากสถานการณ์ตลาดคริปโตฯ ที่เปลี่ยนแปลงไป สำนักงาน ก.ล.ต. จึงมีความจำเป็นที่ต้องปรับปรุง หรือออกหลักเกณฑ์ กติกาให้สอดคล้องและรัดกุม ซึ่งอาจทำให้ดูเหมือนเป็นการปิดกั้นนวัตกรรม ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่า ทางสำนักงาน ก.ล.ต. เห็นประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยีอย่างแน่นอน ซึ่งตั้งแต่ปี 2535 ที่มี ก.ล.ต. มาก็ระบุไว้อย่างชัดเจนถึงหน้าที่ ก.ล.ต. ที่มีหน้าที่ต้องคุ้มครองดูแลผู้ซื้อขายโดยเพิ่มเติมในส่วนของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลนี้ด้วย ซึ่งในหมวดของการเป็นหน่วยงานภาครัฐมันคือการรักษาดุลให้ได้ระหว่างการสนับสนุนส่งเสริม กับเรื่องของการที่จะให้ความคุ้มครองดูแลของผู้ซื้อขายส่วนนี้
โดยภาพใหญ่แล้วกัน พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ถือเป็นลูกผสมระหว่างที่เป็นสินทรัพย์ดิจิทัล ที่อาจจะไม่ใช้หลักทรัพย์ กับสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะคล้ายหลักทรัพย์ ดังนั้น สำนักงาน ก.ล.ต. จึงเสนอปรับปรุงแก้ไข พ.ร.ก.สินทรัพย์ ด้วยการโยกสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะคล้ายหลักทรัพย์ ในส่วนของ Investment Token กับ Utility Token ไม่พร้อมใช้ มาอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ เพื่อให้สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะคล้ายหลักทรัพย์มาอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์กติกาเดียว เหมือนต่างประเทศที่ใช้กัน ซึ่งขณะนี้ได้เสนอร่างแก้ไขต่อกระทรวงการคลังแล้ว อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ก่อนเสนอต่อรัฐมนตรี เพื่อนำร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ที่ผ่านการแก้ไขแล้วเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป
“ก.ล.ต. พร้อมสนับสนุนการระดมทุนในโลกคริปโตฯ หรือ WEB3.0 โดยการออก Tokenization ทั้งเรื่องของการออก ICO หรือ utility token ไม่พร้อมใช้ แต่จะใช้กติกาที่ดูเสมือนหนึ่งของการเป็นหลักทรัพย์ เพราะไม่ต้องการให้เกิดการมีช่องว่างที่สิ่งที่คล้ายคลึงกันอยู่ในกฎเกณฑ์กติกาเดียวกัน ไม่ให้เกิดช่องว่างได้เปรียบหรือเสียเปรียบ ซึ่งการแก้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ถือเป็น 1 ใน 7 วัตถุประสงค์ที่ ก.ล.ต. จะพัฒนาตลาดทุนดิจิทัล ซึ่งความหมายตลาดทุนดิจิทัลไม่ได้อยู่เฉพาะคริปโตฯ แต่มันจะเกี่ยวโยงกับสิ่งที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจและสังคมทั้งหมด เพราะฉะนั้นเราพยายามที่จะเปิดฉากการเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลให้มันเต็มรูปแบบโดยไม่โฟกัสแค่สินทรัพย์ดิจิทัลเพียงเท่านั้น”
ทั้งนี้ ถ้า พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ที่ได้รับการแก้ไขแล้ว จะทำให้การระดมทุนด้วยการออก ICO ได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับการเสนอขายหลักทรัพย์ทั่วไป (IPO) โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ด้านภาษี จากเดิมที่มีการระดมทุน ICO กรมสรรพากรจะถือเป็นสินค้า เมื่อระดมทุนได้จะถือเป็นรายได้ของกิจการที่ต้องนำมาคำนวณภาษี รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
ล่าสุด ก.ล.ต. ออกหลักเกณฑ์ในการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อไม่ให้สนับสนุนหรือส่งเสริมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นผลจากการที่ ธปท. และสำนักงาน ก.ล.ต. ได้หารือร่วมกันถึงประโยชน์และความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัล และเห็นความจำเป็นในการกำกับดูแล และควบคุมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงความเสี่ยงต่อประชาชนและธุรกิจ เช่น ความเสี่ยงจากการสูญมูลค่าที่เกิดจากความผันผวนของราคา ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน
คณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงพิจารณาใช้อำนาจตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำกับดูแลการให้บริการของผู้ประกอบธุรกิจไม่ให้มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ เนื่องจากอาจส่งผลให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ในวงกว้างนอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุน โดยคณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบ หลักการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในการจำกัดการให้บริการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งปรับปรุงตามข้อเสนอแนะที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง (ระหว่างวันที่ 25 มกราคม ถึง 8 กุมภาพันธ์ 2565) ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น และออกประกาศเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การใหบริการของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล สรุปสาระสำคัญดังนี้
(1) ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภทต้องไม่ให้บริการหรือกระทำการอันมีลักษณะที่เป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมการชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น การโฆษณา การชักชวนหรือแสดงตนว่าพร้อมให้บริการชำระค่าสินค้าหรือบริการแก่ร้านค้า หรือการจัดทำระบบหรือเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการชำระค่าสินค้าและบริการ การเปิดกระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อวัตถุประสงค์ในการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ เป็นต้น
(2) กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลพบว่า ลูกค้าใช้บัญชีที่เปิดไว้เพื่อการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้าและบริการ ผู้ประกอบธุรกิจต้องแจ้งเตือนเกี่ยวกับการใช้บัญชีผิดวัตถุประสงค์และไม่ตรงกับเงื่อนไขการให้บริการ และดำเนินการแก่ลูกค้าที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการให้บริการ ซึ่งรวมถึงระงับการให้บริการชั่วคราว ยกเลิกการให้บริการหรือดำเนินการอื่นใดในทำนองเดียวกัน
ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 และสำหรับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการตาม (1) และ (2) อยู่ก่อนแล้ว ให้ผู้ประกอบธุรกิจปฏิบัติให้เป็นไปตามที่หลักเกณฑ์กำหนดภายใน 30 วันนับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ
ปรับมาตรการควบคุมผู้ประกอบการ ป้องนักลงทุน
สำหรับ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ในช่วงแรกได้วางกรอบไว้กว้างๆ ค่อยๆ ประคับประคองธุรกิจไป บนสมมติฐานที่ผู้ประกอบการ นักลงทุน และผู้เกี่ยวข้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์บริษัท บิทคอยน์ จำกัด (BX) ประกาศปิดตัว ทำให้สำนักงาน ก.ล.ต. ได้รับทราบปัญหา ทั้งเรื่องของไพรเวตคีย์ ที่ยังไม่มีกำหนดให้นำไปฝาก ทำให้มีเพียงคำเดียวถือกุมอำนาจและข้อมูลทั้งการแยกกระเป๋าร้อน กระเป๋าเย็น ดังนั้น ก.ล.ต. จึงต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้เข้มมากขึ้น แม้จะถูกมองว่าวัวหายล้อมคอกก็ตาม
ขณะเดียวกัน สภาพแวดล้อมตอนยกร่างกฎหมายผ่านมา 2-3 ปี กับปัจจุบันต่างกัน ตอนนั้นนักลงทุนไม่กี่แสนคน แต่วันนี้กว่า 3 ล้านคน ซึ่งเป็นนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากคิดเป็นหลายเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น กติกาที่มองแบบค่อยๆ ประคับประคองไปคงไม่พอแล้ว ขณะที่ตัวผู้ประกอบการเองต้องคงสถานะเฉกเช่น การปั่นเหรียญ สร้างราคา ให้ข้อมูลเท็จคนที่ดูคนแรกคือศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ใช่ ก.ล.ต. ดังนั้น ต้องสวมบทบาทควบคุม ระบบการติดตามที่ได้มาตรฐานรองรับการเทรดตลอด 24 ชม. ตลอดทั้ง 7 วัน
ล่าสุด สำนักงาน ก.ล.ต.เปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัลที่นำมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระสินค้าและบริการ หรือ Means of Payment ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นห่วง เพราะเหรียญเหล่านี้ไม่ใช่เงินตราแต่หยิบใช้เสมือนหนึ่งจะเป็น Means of Payment อันที่สองล่าสุดคือ “Utility Token พร้อมใช้” ซึ่งในต่างประเทศที่เมืองนอกมันก็คือพร้อมใช้เพื่อซื้อของแบบบัตรกำนัล หรือจ่ายค่าบริการ แต่วันนี้มันกลับเอามาเป็นลิสต์เพื่อใช้เทรดเก็งกำไรกัน จึงทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าสถานะของการสร้างขึ้นมานั้นตรงกับการใช้งานหรือไม่
เปิดเฮียริ่งหลักเกณฑ์การควบคุมผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
อย่างไรก็ดี สำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นหลักเกณฑ์การควบคุมโฆษณาผ่านสื่อสาธารณะ หลังจากช่วงที่ผ่านมาพบว่าผู้ประกอบการทุ่มโฆษณาอย่างครึกโครม ทั้งบิลบอร์ด ตึกรามบ้านช่อง รถไฟฟ้า ซึ่งในการโฆษณาที่ถือว่ามีจำนวนมาก นั่นทำให้เป็นการกระตุ้นเตือน เป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนเข้ามาลงทุนในคริปโตฯ มากขึ้นและยังมีการนำ influencer ด้วย
ดังนั้น สำนักงาน ก.ล.ต. เองในฐานะเป็นหนึ่งในเรกูเลเตอร์โลก ต้องยึดมาตรฐานที่เป็นสากลร่วมกัน เรื่องตลาดคริปโตฯ ต้องสอดคล้องกันทั่วโลก ที่หลายประเทศเรียกร้องขอความร่วมมือระหว่างประเทศกันในเรื่องนี้ ไม่เพียงเฉพาะเรื่องของการฟอกเงิน ในเรื่องเกี่ยวกับมาตรฐาน เช่น เรื่องโฆษณา ไม่ใช่ไทยที่เดียวในโลกที่มีแนวคิดนี้ แต่ในอังกฤษ และสิงคโปร์ ต่างใช้มาตรฐานเดียวกัน อย่างที่สิงคโปร์ประกาศเป็นคริปโตฯ ฮับ เกณฑ์ที่นั่นยังเข้มงวดกว่าของไทย ซึ่งสิงคโปร์ยังไม่อนุญาตให้ Retail Investor เข้าไปกำกับแตะต้องอะไรกับการลงทุนกับเอกเชนจ์ข้างนอกแบบไทย
“เกณฑ์กติกาเราไม่ได้เข้มงวดจนเกินควร หรือปิดล็อกใคร สนับสนุนให้ธุรกิจเจริญก้าวหน้า แต่อย่าลืมว่าจะต้องดูแลในส่วนของลูกค้าที่เข้ามาเทรดด้วย”
ส่วนข้อร้องเรียนประชาชน มีเรื่องระบบ บริษัทจะต้องแก้ปัญหา และต้องให้ความสำคัญเรื่องดูไซเบอร์ซิเคียวริตีให้ดีที่สุด อย่าเปิดช่องให้เกิดการแฮกได้ง่าย อย่าให้ระบบสะดุด โดยปีที่แล้ว มีเอกเชนจ์ 2-3 เจ้าถูกร้องเรียนเดี๋ยวก็ปิดเดี๋ยวก็เปิด สำนักงาน ก.ล.ต.ได้เข้าไปตรวจสอบระบบ และแนะนำ ซึ่งเขานำไปปรับปรุงปฏิบัติ ทำให้ระบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบอย่างต่อเนื่อง ทางสำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการพิจารณานำหลักเกณฑ์เดียวกับ ธปท. ที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องแจ้งต่อ ธปท. เมื่อระบบของธนาคาร ระบบเอทีเอ็มล่ม มาใช้กับผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ต้องเปิดเผยเมื่อระบบล่ม ไม่ว่าจะเป็นระบบการซื้อขาย ระบบฝากถอนเงินดิจิทัล ล่มกี่ครั้ง ใช้เวลาแก้ปัญหาเท่าใด รวมถึงคุณภาพการจัดการปัญหาข้อร้องเรียนด้วย เพื่อให้นักลงทุนนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกเอกเชนจ์
การตรวจสอบเหรียญดิจิทัล Kub coin Jfin และ SIX สรุปได้เมื่อไหร่
สำหรับการตรวจสอบความเคลื่อนไหวของเหรียญดิจิทัล Kub coin Jfin และ SIX นั้น ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการตรวจสอบถึงความไม่เป็นธรรมของราคาเหรียญคริปโตฯ ด้วยเช่นกัน เพราะลักษณะของการสร้างราคามีความใกล้เคียงกับการปั่นหุ้น แต่จำเป็นต้องดูให้ชัดเจน ต้องใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูล ทำให้ต้องใช้เวลา และต้องไปดูว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้อง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมันมีข่าวอะไรถึงทำให้ราคามันปรับขึ้น
“อย่างไรก็ตาม ต้องให้โอกาสชี้แจง ที่ผ่านมาราคาเหรียญคริปโตฯ ถือว่าร้อนเกินควร ตอนนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริง มันเป็นหน้าที่ ก.ล.ต. เรามีอำนาจหน้าที่ ที่ผ่านมาเขามีแต่ปั่นหุ้น ตอนนี้อาจมีการปั่นเหรียญ อยู่ดีๆ ขึ้นราคาได้ไง เราต้องดูสภาพผิดปกติ มีใครเข้ามาทำราคา ใครเอาเปรียบผู้ลงทุน และเนื่องจากมันเป็นคดีอาญา จึงต้องใช้เวลาในการพิจารณาอย่างชัดเจน ต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อไม่ให้มีข้อสงสัย”
ฝากถึงนักลงทุนและผู้สนใจลงทุนในคริปโตฯ อย่างไรบ้าง
สำนักงาน ก.ล.ต. ยืนยันว่า ก.ล.ต. มีประสบการณ์ แม้ว่าการกำกับหลักทรัพย์ฯ และสินทรัพย์ดิจิทัลจะมีข้อแตกต่างกัน แต่ขอให้ทุกคนติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง เพราะตลาดคริปโตฯ เป็นการเทรดตลอด 24 ชม. ตลอด 7 วัน ส่วนสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นองค์กรให้ข้อมูล ความรู้ และทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และบทบาทคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงการพัฒนาตลาดคริปโตฯ ให้เติบโตอย่างยั่งยืน
อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket