“อาทิตย์” ซีอีโอธนาคารไทยพาณิชย์ หนุนไทย ปั้น “ภูเก็ต” สู่เป้าหมาย “ศูนย์กลางดิจิทัลภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หลังโลกเผชิญโควิด ดันคนใช้งานอินเทอร์เน็ตสูง 350 ล้านคน มองตลาดใหญ่ น่าสนใจ พร้อมแนะสร้างแซนด์บอกซ์กฎหมาย-กฎระเบียบทดลองให้ทันการเปลี่ยนแปลง

วันที่ 29 มีนาคม 2565 นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวในงาน “Nation Dinner Talk: THAILAND FUTURE อนาคตประเทศไทย 2022” ภายใต้หัวข้อ “อนาคตประเทศไทยที่อยากเห็น” ว่า สำหรับอนาคตประเทศไทย ในส่วนของ “What” ในส่วนของมุมมองของผม คือ เราควรสร้างเป้าหมายให้ประเทศไทย เป็น Digital Hub ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (southeast asia)

ทั้งนี้ หากดูผลจากการสำรวจและเก็บข้อมูลจากกูเกิลพบว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 มีสัดส่วนของผู้ใช้ดิจิทัล (Digital Consumer) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า 350 ล้านคน ซึ่งเป็นผู้ที่ใช้งานผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยถือว่าเป็นตลาดที่ขยายตัวน่าสนใจมาก และหากดูในประเทศไทยจะพบว่ามี Digital Consumer สัดส่วนมากกว่า 90% รวมถึงอีกในหลายประเทศในภูมิภาคนี้ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ที่มีสัดส่วนการใช้งานดิจิทัลในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงมาก

และหากดูในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 จะเห็นว่าไทยหรือฟิลิปปินส์เองมีความก้าวหน้าค่อนข้างมากในเรื่องของดิจิทัล โดยจะเห็นว่าทุกอุตสาหกรรมล้วนแล้วแต่นำดิจิทัลมามีส่วนในการต่อยอดการเติบโต และคาดว่าขนาดของระบบดิจิทัลจะมีอัตราการขยายตัวมากกว่า 5 เท่า หรือมีมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ และในระยะข้างหน้าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำธุรกิจและการค้าอย่างมาก

“หลังจากโลกเผชิญโควิด-19 มีคนได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและอ้อม ทั้งลูกค้ารายใหญ่และรายย่อย โดยผลทางตรงมีอย่างกว้างขวาง และทางอ้อมจะเกิดขึ้นต่อเนื่องหรือในอนาคต เพราะโควิดจะไม่มีวันกลับไปจุดก่อนเกิดโควิด ซึ่งหากเราตั้งความหวังว่าโลกจะไปเหมือนเดิมจะมีความเสี่ยงมากเกินไป ซึ่งในแต่ละประเทศต้องอยู่ให้ได้ภายใต้ความผันผวนและไม่แน่นอน ซึ่งมีทั้งประเทศที่พร้อมฉวยโอกาส ประเทศที่ไม่พร้อม ซึ่งจะยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำ ได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งเป็นโจทย์และความท้าทายของทุกคน และอยู่กับเราทุกคน”

โดยอยากตั้งเป้าให้ “ภูเก็ต” เป็น Replace Singapore เช่น ในช่วงวันทำงานหยุดเสาร์-อาทิตย์สามารถบินมาเที่ยวที่ภูเก็ต และก็บินกลับไปทำงานในวันจันทร์ได้ แต่หลังจากสถานการณ์โควิด-19 จะต้องทำให้ภูเก็ตเป็นสถานที่พักอาศัยหลัก (Main Residence) และเป็นศูนย์กลางของ Digital Hub ซึ่งทำให้ภูเก็ตเป็นฐานของคนที่สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ โดยบินไปทำงานในสิงคโปร์ทำที่จำเป็น นอกจากนี้อยากเสนอ “เชียงใหม่และอีอีซี” เป็น “เฉิงตูหรือเสิ่นเจิ้น” เป็นฐานของเทคโนโลยี ทั้งคนที่มาทำงานและคนที่เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความพร้อมทางด้านภูมิภาค บุคลากร และพื้นที่เหมาะสมที่จะตั้งเป้าเป็น “Thailand Digital Hub” ได้ อย่างไรก็ดี จะไปถึงจุดนั้นจะต้องมีหลายอย่างที่จะต้องผลักดันให้ได้ โดยจะทำให้ ภูเก็ต เชียงใหม่ และอีอีซี เป็นเหมือนแซนด์บอกซ์ของดิจิทัล ซึ่งจะต้องเน้นเรื่องของ Sharing Economy ซึ่งจะไปถึงจุดนั้นจะต้องมีการเปลี่ยนความคิด (Mindset) ในส่วนของเรื่องหนี้ครัวเรือน โดยจะต้องเปลี่ยนจากการออมเพื่อเป็นการโอนบ้าน-รถยนต์ หรือปัจจัย 4 มาเป็นการออมเพื่อลงทุนดีกว่า เพื่อให้ต้นทุนในการใช้ชีวิตลดลง และยังทำให้ภาระหนี้ครัวเรือนลดลงด้วย

อย่างไรก็ดี ในส่วนของ “How” จะต้องให้ประเทศมีนิติบัญญัติที่มีการปรับเปลี่ยนกฎหมายกฎระเบียบข้าราชการให้มีความมุ่งมั่น (Commitment) ร่วมกันทั้งชาติ โดยจะต้องมีฝ่ายนิติบัญญัติที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงกฎหมายรวดเร็วพอ มีความรู้มากพอ และทดลองมากพอ เช่น อีอีซี ที่ทำได้ค่อนข้างดี หรือแซนด์บอกซ์ที่ทดลองได้ เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายข้าราชการที่สามารถเปลี่ยนในวงจำกัด หรือเปลี่ยนได้ เพราะเราไม่มีเวลาเหลือมากพอรอให้เสร็จ เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว ผัวผวน และรวดเร็วมาก ซึ่งส่วนของ “How” ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย การสร้าง nome ใหม่ ซึ่งต้องลบความคิดของผู้นำลบมิชชั่น โดยต้องทำกฎหมายกฎระเบียบให้ประสบความสำเร็จ

“เราจะทำอะไรได้บ้าง หากดูประเทศไทยไม่เคยขาดอะไร เรามีคนเก่งๆ มากมาย ซึ่งเหตุการณ์ความผันผวนจะยิ่งทวีความผันผวน ไม่แน่นอนต่อไป เราต้องเลิกคาดหวังว่าโควิดจะมีวันจบ เราเผชิญปัญหา Hyper inflation ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เราจะทำอย่างไรให้อยู่กับสภาพสิ่งแวดล้อมแบบนี้ และจะทำให้คนทั้งประเทศอยู่ภายใต้ความผันผวนได้ โดยผู้นำประเทศต้องสร้างและชี้ทางให้ชัดเจน เพื่อให้คนฉกฉวยโอกาสบนความไม่แน่นอน”

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance/