เอ็มดี “ทิพยประกันภัย” แจงจ่ายเคลมโควิด หลังลูกค้า 280 ราย บุกทวงเงินหน้าบริษัท โอดจ่ายสินไหมแล้วกว่า 3,800-3,900 ล้านบาท

วันที่ 21 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ตามที่ปรากฎข่าวว่า ผู้เอาประกันภัยโควิดของบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) จำนวนกว่า 280 คน ใส่ชุดดำนัดรวมตัวหน้าบริษัททิพยประกันภัย สำนักงานใหญ่ย่านพระราม 3 เพื่อทวงถามความเป็นธรรมและเรียกร้องให้จ่ายค่าสินไหมจากสิทธิเงินค่าชดเชยรายได้จากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยโควิดนั้น

ล่าสุด ดร.สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คนที่มารวมตัวกันหน้าบริษัทวันนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้เอาประกันภัยของบริษัท ที่ต้องการเรียกร้องสิทธิเงินค่าชดเชยรายได้จากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยมาก และพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน (Home Isolation) หรือพักอยู่ในชุมชน (Community Isolation)

ซึ่งผู้เอาประกันกลุ่มนี้ชัดเจนอยู่แล้วว่าจะไม่ได้รับความคุ้มครอง เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยโควิดของบริษัท จะจ่ายเงินชดเชยรายได้ต่อเมื่อเป็นผู้ป่วยใน (IPD) ในสถานพยาบาลเท่านั้น (เป็นผู้ป่วยในที่มีความจำเป็นทางการแพทย์และเข้าไปรักษาตัวในสถานพยาบาล)

“ผู้เอาประกันกลุ่มนี้อาจเข้าใจผิดว่า การที่ติดเชื้อโควิดรักษาตัวใน HI, CI หรือ Hotel Isolation และไม่ได้ไปทำงาน ซึ่งขาดรายได้ ควรจะได้รับการชดเชย ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่ เพราะถ้าเราจ่ายทุกเคส จากทุกวันนี้ที่เวลาตรวจพบเชื้อโควิด แพทย์จะสั่งให้รักษาตัวใน HI, CI หรือ Hotel Isolation ทั้งหมด ก็จะกลายเป็นเหมือนกรมธรรม์ “เจอจ่ายจบ” ซึ่งจริง ๆ กรมธรรม์ของบริษัทคนละคอนเซ็ปต์” เอ็มดีทิพยประกันภัย กล่าว

อย่างไรก็ดี ทิพยประกันภัยเข้าใจว่าคนที่มาวันนี้เป็นผู้ป่วยโควิดที่ได้รับความเดือดร้อน แต่ทั้งนี้ลูกค้าต่าง ๆ ต้องเข้าใจเงื่อนไขของกรมธรรม์ด้วย โดยเบื้องต้นบริษัทได้พยายามอธิบายให้ลูกค้าแบ่งกลุ่มผู้ป่วย เช่น

กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยโควิดรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม ซึ่งเคสนี้บริษัทจะเร่งดำเนินการให้เลย

กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยโควิดรักษาตัวในฮอสพิเทล

กลุ่มที่ 3 ผู้ป่วยโควิดรักษาตัวใน HI, CI หรือ Hotel Isolation ซึ่งกลุุ่มนี้ไม่สามารถจ่ายได้เพราะไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขกรมธรรม์ แต่บริษัทจะอนุโลมจ่ายถ้าผู้ป่วยมีภาวะเสี่ยงตามเงื่อนไข คปภ. ซึ่งเบื้องต้นมีลูกค้าอยู่ส่วนหนึ่งที่เข้าข่าย จะรีบดำเนินการเรื่องนี้ให้โดยเร็ว

ทั้งนี้กำลังให้เจ้าหน้าที่รวมรวบจำนวนผู้เอาประกันภัยที่มาร้องเรียนวันนี้ โดยให้เข้ามาลงชื่อ ซึ่งช่วงแรก ๆ ไม่ค่อยมีใครยอมเซ็นลงชื่อ แต่ช่วงหลัง ๆ ก็มีเข้ามาลงชื่อแล้วประมาณสัก 30 ราย เพื่อให้บริษัททราบว่าใครเป็นผู้ป่วยแบบไหน เพื่อจัดเตรียมทีมงานดูแลผู้เอาประกันเหล่านี้

“พูดตรง ๆ คือที่ผ่านมามียอดเคลมเข้ามามาก เราระดมพนักงานสินไหม หรือแม้พนักงานทั่วไปเข้ามาช่วยพิจารณา โดยกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ อาจจะมีหลุดไปบ้าง จึงอยากให้มาบอกโดยนำเอกสารมาให้เราดู ไม่ได้มีปัญหา”

ตั้งแต่เริ่มขายกรมธรรม์ประกันภัยโควิดคุ้มครองภาวะโคม่าจนถึงปัจจุบัน บริษัทมียอดจ่ายเคลมประกันภัยโควิดแล้วกว่า 3,800-3,900 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่กรมธรรม์จะหมดความคุ้มครองช่วงเดือน พ.ค. 65 จำนวนกว่า 1.6-2 ล้านฉบับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้ป่วยโควิดที่เข้าข่ายภาวะเสี่ยงตามเงื่อนไข คปภ.คือ กรณีผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีผลตรวจโดยวิธี RT-PCR และมีปัจจัยเสี่ยงข้อใดข้อหนึ่งที่จะต้องเข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในสถานพยาบาล แต่ไม่มีสถานพยาบาลรองรับ ดังต่อไปนี้

อายุมากกว่า 60 ปี
โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)
โรคปอดเรื้อรังอื่น ๆ
โรคไตเรื้อรัง (CKD)
โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคหัวใจแต่กำเนิด
โรคหลอดเลือดสมอง
เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ภาวะอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 90 กก. หรือ BMI ตั้งแต่ 30 กก./ตร.ม. ขึ้นไป)
ตับแข็ง
ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และ lymphocyte น้อยกว่า 1,000 เซลล์/ลบ.มม.

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance