ธปท.ปรับแนวทางดูแลกลุ่ม ธพ. ส่งเสริมการพัฒนาบริการผ่านเทคโนโลยี ยกระดับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ประกาศไฟเขียวอนุมัติลงทุนได้ กำหนดเพดาน 3% ของเงินกองทุน

วันที่ 23 มีนาคม 2565 นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าภายใต้การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว จะเห็นว่าธนาคารพาณิชย์เริ่มมีการปรับครงสร้างธุรกิจไปสู่กลุ่มธุรกิจทางการเงิน (โฮลดิ้ง คอมปะนี) และให้ความสนใจในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset : DA) มากขึ้น

ซึ่งเป็นทั้งโอกาสในการพัฒนานวัตกรรม และอาจเกิดความเสี่ยงในรูปแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้น ซึ่งภายใต้แนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน

 

โดย ธปท.จึงได้ปรับปรุงเกณฑ์ให้กลุ่ม ธพ. มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการประกอบธุรกิจ และยกระดับการกำกับกลุ่ม ธพ. ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป ซึ่งกรณีที่ธนาคารต้องการเข้าไปสำรวจธุรกิจที่เกี่ยวข้อง DA เช่น ICO Portal, Broker, Dealer เป็นต้น สามารถทำได้

เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีหน่วยงานกำกับดูแลอย่างคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) หรือกรณีที่ต้องการทำเพิ่มเติมจะต้องเข้ามาคุยเป็นรายกรณี เพื่อไม่ให้ความเสี่ยงกระทบมายังชื่อเสียงธนาคารและเงินฝากของประชาชน แต่ไม่สนับสนุนการให้ธนาคารเข้าไปเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลโดยตรง

นอกจากนี้ไม่ว่าจะมีการจัดโครงสร้างกลุ่มธุรกิจอย่างไร จะต้องมีการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเพียงพอ โดยจะต้องรองรับความเสี่ยงทางด้านเครดิต ตลาด และด้านปฏิบัติการ โดยธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญเชิงระบบจะต้องมีเงินกองทุนไม่ต่ำกว่า 12% และธนาคารขนาดกลางอยู่ที่ 11% อย่างไรก็ดี ผลการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) อาจจะออกมาไม่เหมือนกัน เนื่องจากลักษณะพอร์ตสินเชื่อ และธุรกิจไม่เหมือนกัน

และจะต้องมีการดูแลความเสี่ยงเชิงระบบ โดยจะต้องแยกระบบคอร์แบงกิ้งระหว่าง ธพ.และกลุ่ม ธพ. โดยไม่เชื่อมโยงระบบสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้ ธพ.มีความมั่นคงปลอดภัยสูงสุด โดยไม่อนุญาต ธพ.เข้าไปทำเสนอขาย หรือกระตุ้นการขาย ชี้ชวนเกี่ยวกับ DA ทั้งสาขา เว็บไซต์ และห้ามขอ Consent ลูกค้า เพื่อไม่ให้เกิดการกระตุ้นในกลุ่มที่ไม่พร้อมรองรับความเสี่ยง ยกเว้น กลุ่มลูกค้าที่มีความพร้อมโดยยึดตามเกณฑ์ ก.ล.ต. ที่สามารถให้ข้อมูลเบื้องต้นได้

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม ธปท.ได้มีการยกเลิกเพดานการลงทุนในธุรกิจ FinTech จากเดิม ธปท.กำหนดเพดานการลงทุนไว้ไม่เกิน 3% ของเงินกองทุน เนื่องจาก ธปท.มีความรู้ความเข้าใจและเห็นประโยชน์จากการลงทุนมากขึ้น เช่น เทคโนโลยีการพิสูจน์ยืนยันตัวตน (BioMetric) เป็นต้น ประกอบกับหน่วยงานการกำกับดูแลมีแนวทางการกำกับความเสี่ยงได้ระดับหนึ่งแล้ว

ขณะที่ในส่วนของการลงทุนใน DA จะแบ่งเกณฑ์การกำกับเป็น 2 ส่วน คือ 1.ธุรกิจ DA ที่ได้รับการอนุญาตและมีหน่วยงานการกำกับดูแล เช่น DA exchange, Broker, dealer เป็นต้น ธปท.ให้บริษัทในกลุ่มธพ.สามารถลงทุนในกิจการเหลานี้ได้ภายใต้เพดานเงินลงทุมไม่เกิน 3% ของเงินกองทุน

ซึ่งกรอบดังกล่าวเพื่อให้การลงทุนเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และเป็นไปอย่างจำกัด และให้สามารถจัดสรรเงินลงทุนอย่างรอบคอบ และมีราวกั้นความเสี่ยง เพื่อไม่ให้เกิดการแห่ลงทุน

ตัวอย่าง เพดานการลงทุน 3% ของเงินกองทุน เช่น บริษัทมีเงินกองทุน 2,000 บาท จะไปซื้อบริษัท DA 100 บาท ซึ่งมีมูลค่าทางบัญชี 60 บาท และมีค่า Goodwill 40 บาท โดยจะต้องหักค่า Goodwill ก่อนจากเงินกองทุนที่มี ทำให้เงินกองทุนที่มีเหลือ 1,960 บาท และค่อนนำมูลค่าทางบัญชีมาคิดเป็นสัดส่วนจะต้องไม่เกิน 3% ของเงินกองทุน

อย่างไรก็ดี หากกรณีเกินสัดส่วน 3% ของเงินกองทุน กรณีธนาคารพาณิชย์ ธปท.ไม่อนุญาตให้ทำ แต่หากเป็นกลุ่ม ธพ.สามารถทำได้ แต่เงินกองทุนก็จะลดลง

อย่างไรก็ดี หากในอนาคตมีมาตรการแนวทางการกำกับเป็นสากลมากขึ้น เพดานการลงทุน 3% ก็สามารถปลดล็อกได้ โดยกลุ่ม ธพ.จะต้องพิสูจน์ได้ว่าสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้แบบ End to End ภายใต้เกณฑ์ 6 มิติที่กำหนดไว้ เช่น กลุ่ม ธพ.ลงทุนใน 5 บริษัท แต่มี 1 บริษัทที่สามารถทำได้ก็สามารถปลดจากเกณฑ์การลงทุน 3% ได้เป็นต้น

“การกำหนดเพดาน 3% เราได้ศึกษาข้อมูลจากต่างประเทศ พบว่าธนาคารขนาดใหญ่ เช่น ซิตี้แบงก์หรือ สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด มีการลงทุนใน DA เฉลี่ยประมาณ 7,000 ล้านบาท คิดเป็น 0.4% ของเงินกองทุน ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยอาจจะมีสูงและต่ำไม่เท่ากัน แต่เป็นอัตราที่ไม่ได้ผลีผลามจนเกินไป หากดูของไทยเพดาน 3% ถือว่าเป็นอัตราที่เหมาะสม และ ธปท.ต้องการเห็นการเติบโตแบบเข้มแข็งภายในระบบนิเวศ

สำหรับประเภท 2.DA ที่ไม่มีหน่วยงานการกำกับดูแล เช่น Metaverse และ Defi เป็นต้น หากจะเข้าไปยุ่งเกี่ยว ธปท.กำหนดให้ทำอยู่ในขอบเขต (Sandbox) เพื่อจะได้เรียนรู้ถึงความเสี่ยงและประโยชน์ไปด้วยกัน ซึ่งหากเป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์และมีความเสี่ยงไม่สูง อาจจะให้ขยายวงกว้างขึ้น หรือความเสี่ยงเยอะ

และประโยชน์น้อยก็ต้องพิจารณาอยู่ใน Sandbox ซึ่งจะมีคณะกรรมการคอยพิจารณา โดยจะมีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนขึ้น หากไม่สามารถทำได้ตามเกณฑ์ก็จะได้ยุติกันไป โดยธุรกิจที่อยู่ใน Sandbox ก็ต้องใช้เกณฑ์ 3%

“ธปท.จะมีการปรับเกณฑ์ต่าง ๆ จะเปิดรับฟังความคิดเห็น และหากไม่มีอะไรผิดพลาดคาดว่าจะประกาศใช้เกณฑ์ดังกล่าวภายในกลางปีนี้ ซึ่งเราเองไม่ต้องการปิดกั้นการเกิดนวัตกรรม เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน และทำให้ธุรกิจ DA ในประเทศมีมาตรฐานการบริการที่เป็นที่ยอมรับ ภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่ดี ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม โดยเพดาน 3% จะเป็นราวกั้นเพื่อคุมความเสี่ยง”

อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance/